เมนู

9. ทานสูตร


ว่าด้วยทาน 2 อย่าง


[278] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน 2 อย่างนี้ คือ อามิสทาน 1
ธรรมทาน 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาทาน 2 อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่าย 2 อย่าง คือ การแจกจ่ายอามิส 1 การ
แจกจ่ายธรรม 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาการแจกจ่าย 2 อย่างนี้ การ
แจกจ่ายธรรมเป็นเลิศ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์ 2 อย่างนี้ คือ
การอนุเคราะห์ด้วยอามิส 1 การอนุเคราะห์ด้วยธรรม 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
บรรดาการอนุเคราะห์ 2 อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ.
พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ตรัสทานใด
ว่าอย่างยิ่ง ยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ทรงสรรเสริญการแจกจ่ายทานใดว่า
อย่างยิ่งยอดเยี่ยม วิญญูชนผู้มีจิตเลื่อมใส
ในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์
ผู้เป็นเขตอันเลิศ รู้ชัดอยู่ซึ่งทานและการ
แจกจ่ายทานนั้น ๆ ใครจะไม่พึงบูชา
(ให้ทาน) ในกาลอันควรเล่า ประโยชน์
อย่างยิ่งนั้น ของผู้แสดงและผู้ฟังทั้ง 2 ผู้
มีจิตเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระสุคต
ย่อมหมดจด ประโยชน์อย่างยิ่งนั้น ของผู้
ไม่ประมาทแล้วในคำสั่งสอนซึ่งพระสุคต
ย่อมหมดจด.

จบทานสูตรที่ 9

อรรถกถาทานสูตร


ในทานสูตรที่ 9 พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า ทานํ ได้แก่ สิ่งที่พึงให้. อีกอย่างหนึ่ง เจตนาพร้อมด้วยวัตถุ
ชื่อว่า ทาน. บทว่า ทาน นี้ เป็นชื่อของการบริจาคสมบัติ. บทว่า อามิสทานํ
ความว่า ปัจจัย 4 ชื่อว่าอามิสทาน ด้วยสามารถแห่งความเป็นของที่จะต้องให้.
อธิบายว่า ปัจจัย 4 เหล่านั้น ท่านเรียกว่า อามิส เพราะเป็นเครื่องจับต้อง
ด้วยกิเลสมีตัณหาเป็นต้น. อีกอย่างหนึ่ง เจตนาเป็นเครื่องบริจาคปัจจัย 4
เหล่านั้น ชื่อว่า อามิสทาน.
บทว่า ธมฺมทานํ ความว่า บุคคลบางคนในพระศาสนานี้ เมื่อ
(แสดง) จำแนกกุศลกรรมบถ และอกุศลกรรมบถออกไปว่า ธรรมเหล่านี้
เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ
ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ตำหนิ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้
สมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไร้ประโยชน์ เพื่อทุกข์ ธรรมเหล่านี้
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ดังนี้ กระทำกรรมและผล
กองกรรมให้ปรากฏ ดุจชี้ให้เห็นโลกนี้และโลกหน้า โดยประจักษ์แสดงธรรม
ให้เลิกละอกุศลธรรม ให้ตั้งอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้ชื่อว่า ธรรมทาน.
ส่วนบุคคลบางพวก ชี้แจงสัจจะทั้งหลายให้แจ้งชัดว่า ธรรมเหล่านี้เป็น
อภิญไญยธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นปริญไญยธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นปหาตัพพ-
ธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมเหล่านี้เป็นภาเวตัพพธรรม
ดังนี้ แสดงธรรมอันเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อบรรลุอมตธรรม นี้ชื่อว่า ธรรมทาน
ขึ้นสุดยอด.